วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายในลำพูน บ้านหนองดู่ – บ้านบ่อคาว


บ้านหนองดู่ – บ้านบ่อคาว

ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายในลำพูน
----------------- 

อาทิตย์นี้ตาม “พันแสงรุ้ง” ขึ้นเหนือ ไปกันที่ดินแดนหริภุญชัย จ.ลำพูน ตามร่องรอยอารยธรรมมอญที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในแถบนี้

ทุกวันนี้คนมอญที่ลำพูนมีอยู่ไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน นับวันก็ยิ่งจะถูกกลืนไปกับคนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ แต่นับว่าโชคดีที่มีลูกหลานมอญกลุ่มหนึ่งพยายามรักษาและช่วยกันฟื้นฟูกอบกู้จิตวิญญาณมอญให้กลับคืนมา

ทำไม? คนมอญที่ลำพูนถึงลุกขึ้นมาต่อลมหายใจความเป็นมอญของตัวเอง

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเค้าจะทำอย่างไร?

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญชัยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้วทุกๆ ปีชาวบ้านเกาะกลางจะจัดงานเทศกาล “ฟ้อนผีเม็ง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลานเป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ไม่ให้สูญสลาย

มีหลักฐานเอกสารยืนยันว่า คนมอญมาจากเมืองตะแลงคนาซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี เมืองหงสาวดี แล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า อาณาจักรพยู ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่นครปฐมเป็นเหรียญเงินซึ่งปรากฏอักษรมอญไว้ว่า เย ธมฺมา ศรีทวารวติ ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ ๑๕

สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๖ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ชุมชนมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นชุมชนมอญอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงสำเนียงเสียงภาษามอญ แม้ว่าชุมชนบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว จะเป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก แต่ก็รักษาขนบประเพณีมอญเอาไว้เป็นอย่างดี

ความเชื่อของชาวมอญที่นี่ พวกเขาเชื่อว่าอพยพมาจากเมืองมอญ ในประเทศพม่าโดยตรง

อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย พร้อมๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวี

ตามตำนานโยนกนคร กล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ.๑๑๗๖ โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) เป็นชาวเมงคบุตร ดังนั้นชาวมอญที่นี่จึงนับถือพระนางจามเทวีเป็นเสมือนบรรพบุรุษ และทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณเจ้าแม่จามเทวี อันเป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะทำพิธีภายในเดือน ๔ ของมอญ (ปอน=๔) เดือน ๕ ของล้านนา หรือราวเดือนกุมภาพันธ์

เอกลักษณ์ของชาวมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาวที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การแต่งกายและภาษา คนมอญนิยมเรียกตนเองว่า เมง การแต่งกายของคนเมงคือ ผู้ชายจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานวันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรา (วันสงกรานต์) วันลอยหะมด (วันลอยกระทง) และวันฟ้อนผีเท่านั้น

ส่วนภาษาของชาวมอญก็ยังคงมีการสื่อสารกันอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจในการพูด เขียนภาษามอญมากยิ่งขึ้น

ในรายงานวิชาการเรื่องการขุดแต่งเจดีย์ประธานวัดเกาะกลาง โดยวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีอิสระ กล่าวถึงวัดเกาะกลางว่า

“เดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางทุ่งนาในเขตบ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน วัดนี้มีเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะสืบต่อมาว่า เป็นวัดที่สร้างโดยเศรษฐีอินตา เชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาถูกทิ้งร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ”

วัดเกาะกลางในอดีตเคยเป็นวัดของคนมอญสร้างขึ้นอยู่กลางน้ำ รอบๆ วัดเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๗ พระมหาสงวน ปัญญา วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ และพระอุดม บุญช่วย จากวัดหนองดู่ ลำพูน ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดเกาะกลางซึ่งเป็นวัดร้างและมีโบราณสถานอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันวัดเกาะกลางเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่


เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดจะพบกับโบราณสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเจดีย์ประธานทรงล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นค่อนข้างชัดเจนมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างขึ้นบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม องค์เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจรนำยื่นออกมาจนมีลักษณะเป็นมุข ที่เสากรอบมุขและหลังคาประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา

จากลวดลายปูนปั้นของเจดีย์องค์นี้เรียกได้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะสามารถสืบค้นอายุของเจดีย์ได้ ลวดลายพรรณพฤกษาและลายเมฆไหลที่พบประดับกรอบซุ้มจรนำด้านเหนือของเจดีย์ประธานวัดเกาะกลางนั้น เป็นงานประติมากรรมฝีมือช่างสกุลล้านนาที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย ดังนั้นนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า ประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับองค์เจดีย์ประธาน เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือหลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช

นอกจากนี้รอบๆ วัดเกาะกลางยังปรากฏเจดีย์ต่างๆ และโบราณสถานอีกกว่า ๗ แห่ง โดยเฉพาะเจดีย์หมายท่าที่อยู่ปากทางเข้าวัด เจดีย์หมายท่านี้น่าจะหมายถึงท่าน้ำบ้านหนองดู่ ที่ด้านหน้าวัดยังมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมมีเสาแกนกลางเพื่อรับน้ำหนักซึ่งไม่เคยปรากฏรูปแบบที่ใดมาก่อนตั้งอยู่บนเนินดิน ในวัดยังมีซุ้มประตู ฐานอุโบสถและรากหรือฐานกำแพงวัดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เป็นเศษอิฐจมอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก

กลุ่มโบราณสถานภายในวัดเกาะกลางที่พบ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ

กลุ่มโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณวัด

กลุ่มโบราณสถานที่อยู่รอบๆ วัด

รูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดเกาะกลาง เป็นศิลปกรรมล้านนาคือตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปแบบล้านนา ข้างล่างเป็นฐานจัตุรมุข ข้างบนเป็นทรงระฆังคว่ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ยังไม่ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญไชยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้ น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้ว ทุกๆ ปีชาวบ้านบ่อคาว วัดเกาะกลาง จะจัดงานเทศกาลฟ้อนผีเม็งซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลาน เป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาชาวมอญ “หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน” ไว้ไม่ให้สูญสลาย

 ***********
จักรพงษ์  คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews.co.th.
ที่มา http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=๔๒๔๘๘
ภาพจาก http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=๖๒๙&Itemid=๑๗๒

 

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แรงบันดาลใจ "มอญลำพูน" "monlamphun"

แรงบันดาลใจในการโพสต์ มอญลำพูน


เนื่องด้วยผู้เขียน แว่น มัฆวาน มีเทือกเถาเหล่ากอ เชื้อสาย เมงคะบุตร เติบโตในหมู่บ้านหนองดู่ แม้แต่ชื่อจริงของผู้เขียน ก็ได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสตั้งให้ ซึ่งเป็นพระมอญด้วยเช่นกัน เมื่อจบชั้นประถมคือชั้นสูงสุดของโรงเรียนประจำหมู่บ้านแล้ว ก็ได้บวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ต่อไป

ขณะที่บวชเป็นสามเณร ก็ได้รับการอบรมบ่มเพาะด้านศาสนา จากหลวงพ่อที่เป็นพระมอญ การสวดมนต์ทำวัตร ก็ใช้ภาษามอญมาตลอด เมื่อโตขึ้นมาจึงได้รู้ว่า มอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว มีประวัติความเป็นมาที่ “ไม่ธรรมดา จึงได้ศึกษา สืบค้น รวบรวมเอาไว้ และมีความคิดว่า ถ้าเราไม่อนุรักษ์เอาไว้เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ประวัติความเป็นมาเหล่านี้ก็อาจจะสูญหายไปตามกาลเวลา

ถึงแม้ว่าประวัติความเป็นมาเหล่านั้นอาจจะไม่สูญหายก็จริง แต่ก็กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง ข้อมูลเหล่านั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้เผยแพร่ไว้ในอินเตอร์เน็ตบ้าง ในสื่ออื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากเว็บ “monstudies” จึงขอขอบคุณเว็บไซต์ monstudies ไว้ ณ ที่นี้ด้วย และยังมีเว็บอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้เผยแพร่ประวัติ ข้อมูลต่างๆ ก็ขอขอบคุณเว็บทั้งหลายเหล่านั้นด้วย อีกทั้ง มอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว ก็ยังไม่ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของตนเองเอาไว้เช่นในชุมชนอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นมีเว็บไซต์เป็นของจังหวัดตัวเอง

ผู้เขียนจึงได้รวบรวมประวัติเหล่านั้นเอามาไว้ในที่เดียวกัน คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนคนมอญและอนุชนคนรุ่นหลังไม่น้อย จึงได้รวบรวมบทความ ประวัติ ข้อคิดข้อเขียนพร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ของท่านผู้รู้ทั้งหลายที่ได้เขียนและเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตบ้าง ทางหนังสือพิมพ์บ้าง ทางอื่นๆ บ้าง จากนั้นจึงได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในชื่อ monlamphun.ob.tc” ซึ่งได้รับความกรุณาจากพิษณุโลกดอทคอมให้ใช้พื้นที่ฟรีๆ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ จากนั้นทางพิษณุโลกดอทคอมได้เปลี่ยนจาก .ob.tc มาเป็น .th.gs มอญลำพูนจึงได้เปลี่ยนตามมาเป็น “monlamphun.th.gs” แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ผู้เขียนไม่สามารถดูแลและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ ได้ จึงได้ยกเลิกเว็บไซต์ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เลิกล้มความคิดที่จะเผยแพร่ประวัติของชาวมอญบ้านหนองดู่ วัดหนองดู่ บ้านบ่อคาว วัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นชุมชนคนมอญ หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน  

นอกจากนี้ ยังมีพระเถระผู้ใหญ่อีกหลายรูปที่ได้เมตตาไปจำพรรษาที่วัดหนองดู่ วัดเกาะกลาง เช่น พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เป็นต้น เพื่ออบรมสั่งสอนทั้งพระสงฆ์และประชาชน และยังมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่จากเมืองหลวง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเมตตาเสด็จไปแวะและพักค้างคืนที่ หมู่บ้านมอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว จังหวัดลำพูนอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชชายาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแวะที่บ้านหนองดู่ และได้ทรงถวายตาลปัด (พัด) พร้อมย่าม เนื่องในการบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุ ๖๑ พรรษา พ.ศ.๒๔๗๖ แด่หลวงปู่ พระญาณกิตติ (กิ) เจ้าอาวาสวัดหนองดู่ ซึ่งท่านเป็นพระมอญอาคมขลังที่มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากอีกด้วย นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงยิ่งของ มอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว ที่พระราชชายาทรงเมตตาแวะเยี่ยม

นักปราชญ์ราชบัณฑิตทางภาคเหนือหลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญไชย พร้อมๆ กับการกำเนิดของ พระนางจามเทวี ตามตำนานโยนก กล่าวถึงการกำเนิดของพระนางจามเทวี ดังนี้

พระนางจามเทวี ทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ. ๑๑๗๖ โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นชาวเมงคบุตร (มอญ)” (คัดจากหนังสือ พระนางจามเทวี: กำเนิดพระนางจามเทวี, หน้า ๑๕) ซึ่งที่บ้านบ่อคาว ยังมีโบราณสถานปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณแล้ว

ดังนั้น แว่น มัฆวาน จึงได้ใช้ Blogger เป็นที่รวบรวมประวัติ ความเป็นมาของ บ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาวเพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติ มอญลำพูน โดยใช้ชื่อ Blogger ว่า “monlamphun.blogspot.com”  อีกครั้ง

ขอขอบคุณทุกๆ บทความ ทุกๆ เว็บไซต์ที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติเหล่านั้น ณ ที่นี้ด้วย

ขอขอบพระคุณ

แว่น มัฆวาน
****************************

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว

ซึ่งเป็น...      
หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน       

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
อีกทั้งเรื่องราวเรื่อง บางตอน บางบทความ ไม่ได้บอกที่มาของข้อมูลเหล่านั้น

ขอกราบอภัย และขอกราบขอบพระคุณ..มา ณ ที่นี้ด้วย

"แว่น มัฆวาน"
 
 
 

 

 

 

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เวียงเกาะกลาง แหล่งประติมากรรมโบราณ


เวียงเกาะกลาง แหล่งประติมากรรมโบราณ


ต้องยอมรับว่า เส้นทางสู่มรดกโลก ด้านวัฒนธรรม ที่คณะทำงานเมืองมรดกโลกจังหวัดลำพูนได้เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาถึงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของนครหริภุญไชย เมืองเก่าแก่ 1,300 ปี มีสิ่งที่น่าสนใจจำนวนมาก


นอกจากจุดเด่นที่บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร และ ชุมชนโดยรอบแล้ว กลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง และชุมชนบริวารก็เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าพิเศษ มีเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่นในยุคโบราณที่ปรากฏให้เห็นร่องรอยอารยธรรมเดิมที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนหน้านี้ "วัดเกาะกลาง" ถูกทิ้งให้เป็นวัดร้างจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2517 "พระมหาสงวนปัญญา" จากวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ "พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์" วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับ "พระอุดม บุญช่วย" วัดหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ร่วมกันพัฒนาปฏิสังขรณ์เป็นสถานที่บำเพ็ญธรรม ในปี พ.ศ. 2522 กรมการศาสนาได้ประกาศให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา

เจดีย์หมายท่า
 
สำหรับชุมชนโดยรอบมีชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัย ส่วนบริเวณด้านหน้าพระวิหารจะมีเสาหงส์ตั้งอยู่ เพื่อแสดงสัญลักษณ์และเครื่องรำลึกว่า "หงส์" คือเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญในพม่า
 
 
ความโดดเด่นและคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง เป็นสถานที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับกำเนิดของ "พระนางจามเทวี" มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมของโบราณสถานรุ่นแรกๆ ของล้านนา และสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่ปรากฏ มีรูปแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 


ต่อมา กรมศิลปากรได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ทำการขุดแต่งโบราณสถานกลุ่มนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2548 พบว่ามีโบราณสถาน 4 กลุ่ม ได้แก่ เจดีย์หมายท่า ก่อนนั้น ปรากฏหลักฐานเพียงเจดีย์ทรงกระบอกกลม หลังจากการขุดแต่งพบว่ามีองค์ประกอบตามแบบแผนของวัดอย่างชัดเจน ประกอบด้วยองค์เจดีย์ประธาน แท่นบูชา วิหาร กำแพงแก้ว และซุ้มประตูโขง 


"นางเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์" หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และสถาปัตยกรรมศิลป์ กล่าวว่า ภายในวัดเกาะกลางพบโบราณสถานที่ประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงปราสาท วิหาร อุโบสถ บ่อน้ำ แนวกำแพง ซุ้มประตูโขง และเจดีย์ทรงปราสาท ด้านทิศตะวันออกของวัดที่สำคัญคือ เจดีย์ประธาน รวมทั้งเจดีย์ทรงปราสาทอีก 2 หลัง ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคต้นของอาณาจักรล้านนา


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงปราสาท ยอดระฆัง คาดว่าจะมีอายุประมาณช่วงต้นอาณาจักรล้านนา องค์เจดีย์มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น มังกร กิเลน และนาค ผสมผสานกับลายบัวเชิง ลายบัวคอเสื้อ และลายพรรณพฤกษา ประเภทลายเครือเถา ที่เรียกกันว่า ลายเครือล้านนา อีกทั้งยังพบร่องรอยของการซ่อมแซมปูนปั้น วงโค้งของซุ้มจระนำ ส่วนพื้นที่รอบฐานเจดีย์ พบว่ามีร่องรอยของการปรับหน้าที่การใช้งานของทางเดิน แท่นบูชา และมีการบูรณปฏิสังขรณ์วิหาร ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกประมาณ 4 ครั้ง ในการซ่อมแซมครั้งที่ 3 คาดว่า น่าจะเกิดจากพื้นที่นั้นถูกน้ำท่วม


นอกจากนี้เจดีย์ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน บริเวณกรอบซุ้มจระนำ มีการนำอิฐหน้าวัว ก่อเป็นกรอบวงโค้ง ซึ่งเป็นศิลปะเด่นแบบพุกาม มีลักษณะคล้ายกับมณฑปประดิษฐาน พระแก่นจันทร์แดง ที่วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2062


สำหรับเจดีย์ด้านทิศเหนือ มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น เป็นอย่างมากคือ ลักษณะของเรือนธาตุ มีเสากลางรองรับโครงสร้างส่วนบน เป็นรูปแบบที่ไม่เคยพบในแหล่งโบราณสถานใดในประเทศไทย


ลักษณะของเจดีย์ตั้งอยู่กลางน้ำ และมีฐานลานประทักษิณกลม เป็นรูปแบบพิเศษ พบเป็นครั้งแรกของศิลปะสถาปัตยกรรมในอาณาจักรล้านนา แต่มีลักษณะคล้ายกับโบราณสถานสระมรกตจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 10-14 ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งลวดลายปูนปั้น มีความงดงาม

จัดว่าเป็นกลุ่มฝีมือช่างหลวง ในยุคทองของอาณาจักรล้านนา และยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ศิลปะพุกาม สุโขทัย และล้านนา คาดว่าวัดเกาะกลางแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญ และน่าจะได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่




ในส่วนของบริเวณเนินแม่ม่ายหรือเนินเศรษฐีอินตา มีกลุ่มโบราณสถาน 2 แห่ง กลุ่มแรก พบอาคารจำนวน 7 หลัง บ่อน้ำจำนวน 2 บ่อ มีแนวกำแพงล้อมรอบ มีประตูทางเข้า อีกกลุ่มหนึ่งพบแท่นก่ออิฐในผังแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ 1 หลัง และแท่นบูชา มีแนวกำแพงล้อมรอบ โดยมีทางเดินขนาดเล็ก เชื่อมต่อกับกลุ่มโบราณสถานแรกที่พบ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมขนาดใหญ่มากมาย เป็นลวดลายจีนยุคราชวงศ์ถัง ร่วมสมัยกับทวาราวดี


ประติมากรรมและแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่พบในวัดเกาะกลางนี้ล่าสุดคณะทำงานด้านมรดกโลกของจังหวัดลำพูน เชื่อมั่นว่าหลังจากมีการเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามหลักวิชาการแล้ว จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ ในการผลักดันและยกระดับให้ "จังหวัดลำพูน เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคต"







-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หน้าบ้านโบราณคดีสำรวจเวียงเกาะกลาง
แหล่งประติมากรรมโบราณ ลำพูน
 
เขียนโดย
พิมผกา ต้นแก้ว  
พุธ, 16 สิงหาคม 2549

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 16/08/2549

----------------------

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
อีกทั้งเรื่องราวเรื่อง บางตอน บางบทความ ไม่ได้บอกที่มาของข้อมูลเหล่านั้น

กราบขออภัย และขอกราบขอบพระคุณ..มา ณ ที่นี้ด้วย

"แว่น มัฆวาน"

 

แอ่งอารยธรรมมอญ


แอ่งอารยธรรมมอญ

 
หลักศิลาจารึกอักษรภาษามอญ
 
 

เคยเป็นถึง "แอ่งอารยธรรมแม่" ของอารยธรรมทั้งปวงในแถบอุษาคเนย์ จักต้องมาจบลงด้วยการไร้ชาติสิ้นแผ่นดิน ทว่าหากย้อนเข้าไปในยุคสมัยประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า "มอญ" คือบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่เคยครอบครองผืนแผ่นไทยมาก่อน เช่นในพุทธศตวรรษที่ ๘ หรือราว ๑,๘๐๐ ปีมาแล้วมีหลักฐานยืนยันว่า อาณาจักรมอญแห่งแรกสุดมีศูนย์กลางอยู่แถบนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งเรียกรวมกันว่า "อาณาจักรทวารวดี" (Dvaravati)
 
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเอกสารยืนยันอีกว่า บรรพชนของคนมอญน่าจะมาจากเมืองตะเลงคนา (Telinggana) ซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่เมืองหงสาวดีแล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า "อาณาจักรพยู" ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่จังหวัดนครปฐม พบเหรียญเงินปรากฏอักษรมอญไว้ว่า "เย ธมฺมา ศรีทวารวติ" ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ ๑๕
 
 
 
สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๖ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มอญกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "พวกเม็งบ้านหนองดู่" ตั้งบ้านเรืออยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออกเป็นมอญบ้านหนองดู่และบ่อคาว ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นมอญบ้านต้นโชค อ.สันป่าตอง มีแม่น้ำปิงเป็นสายใยยึดโยงความสัมพันธ์รวมคนมอญทั้งสองฝั่งได้ราว ๓,๐๐๐ กว่าชีวิต ๕๐๐ กว่าครัวเรือน
 
 หากย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการอพยพคนมอญขึ้นมาอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังกลุ่มใหญ่ ๑ - ๒ ระลอก ซึ่งปัจจุบันปรากฏชุมชนคนมอญทั้งในจังหวัดลำพูนและลำปาง ขณะเดียวกันประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือประเด็นเรื่อง พระนางจามเทวีเป็นมอญที่มาจากละโว้หรือเป็นมอญบ้านหนองดู่
 
 
 
ศาสนสถาน ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ 
---------------------------------------------------------------
ปริศนาเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของพระนางจามเทวีนั้นเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่จบ เนื่องจากตำนานที่เขียนขึ้นล้วนแต่งในสมัยหลังทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในเอกสารประกอบการเสวนาจัดทำโดย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย เรื่องปฐมเหตุแห่งมอญหริภุญชัย กล่าวถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยสมัยนั้นประกอบด้วยคน ๓ กลุ่มหลัก คือ
 
มอญจากละโว้หรือมอญทวารวดี ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงพวกนักปราชญ์ นักบวช ขุนนาง ศิลปิน นายช่างที่เดินทางมาพร้อมกับพระนางจามเทวีกว่าเจ็ดพันชีวิต

กลุ่มที่ ๒  คือชาวเม็งพื้นเมือง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน พูดภาษาคล้ายคลึงกับมอญราชสำนัก ซึ่งกลุ่มนี้พระนางจามเทวีทรงโปรดให้เข้ามาอาศัยอยู่ภายในเวียงปะปนกับชาวมอญจากภาคกลางอย่างกลมกลืน
 
ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นพวกลัวะหรือละว้า ชนพื้นเมืองดั้งเดิมมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสองโดยให้อาศัยอยู่บริเวณนอกเมือง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ย้อนไปถึงยุคของพระนางจามเทวีในรูปของจารึกหรือศิลปกรรม
 
ร่องรอยอารยธรรมมอญที่เหลือให้เห็นในลำพูนก็พบในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕) เป็นอักขระมอญโบราณจารึกลงบนแท่งหินขนาดใหญ่จำนวน ๘ หลัก (ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจารึกภาษามอญมากที่สุดในประเทศไทย) ทำให้ทราบว่ามีกลุ่มชนชาวมอญเคยอาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนที่จะถูกกลืนหายไปพร้อมกับการเดินทางมาถึงของกลุ่มชนชาวไทจากลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขง ภายใต้ชื่ออาณาจักรล้านนา
 
 ฐานพระอุโบสถ
--------------------
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมอญแม่ระมิงค์หลายคนจักพยายามยืนยันต้นตระกูลของพวกเขาคือมอญหริภุญชัย มิใช่มอญใหม่จากที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังกลับเชื่อว่าน่าจะเป็นมอญใหม่มากกว่า เพราะจากประวัติศาสตร์ล้านนายุคหลังหริภุญไชยเป็นต้นมา แทบไม่มีการกล่าวอ้างถึงชาวมอญอีกเลย เนื่องจากลำพูนได้กลายเป็นแหล่งอาศัยของชาวไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ซึ่งอพยพเข้ามาแทนที่ชาวมอญไปเรียบร้อยแล้ว
 
เพราะถ้าหากมอญใหม่ ก็ชวนให้คิดต่อไปว่า
โยกย้ายเข้ามาตั้งแต่เมื่อไรและมาจากไหน จากพม่าหรือจากภาคไหนของประเทศไทย
แล้วไยมาเลือกเอาดินแดนแถบป่าซาง - สันป่าตอง ถิ่นเก่าของมอญหริภุญชัยยึดเป็นเรือนตาย...
คำถามเหล่านี้ยังเป็นปริศนาที่น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย

----------------------

จักรพงษ์ คำบุญเรือง

www.chiangmainews.co.th

----------------------

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
อีกทั้งเรื่องราวเรื่อง บางตอน บางบทความ ไม่ได้บอกที่มาของข้อมูลเหล่านั้น

ขอกราบอภัย และขอกราบขอบพระคุณ..มา ณ ที่นี้ด้วย

"แว่น มัฆวาน"

ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบ้านหนองดู่ จ.ลำพูน


ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบ้านหนองดู่ จ.ลำพูน

มอญบ้านหนองดู่
องค์ บรรจุน
------------------------

ชุมชนมอญ บ้านหนองดู่ – บ้านบ่อคาว ริมแม่น้ำปิง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็น "ชุมชนมอญ" อีกแห่งหนึ่ง ที่ยังมีวัฒนธรรมประเพณี และสำเนียงเสียงรามัญที่ไม่เคยเงียบหายไปจากหมู่บ้าน แม้ในถ้อยคำเหล่านั้นจะมี เจ้าปะปน ก็เป็นไปตามสภาวะที่ชาวมอญในเมืองไทยทุกชุมชนกำลังประสบกัน
โดยทั่วไป เพราะได้รับเอาวัฒนธรรมไทย เข้าไปผสมผสานในชีวิตประจำวัน ชุมชนมอญบ้านหนองดู่ เป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก แต่ทว่ายังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญเอาไว้ได้อย่างดี ชาวบ้านยังคงใช้ภาษามอญ ในการสนทนา ในชีวิตประจำวัน มีวัดมอญในชุมชน ได้แก่ วัดหนองดู่ และวัดเกาะกลาง

 
เจดีย์โบราณวัดเกาะกลาง

ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของ ชุมชนมอญ บ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว ก็คือ ไม่มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์ ของชุมชนเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ชาวมอญที่นี่ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร อพยพมาจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) โดยตรง หรือโยกย้ายมาจากภาคกลางของประเทศไทย
แต่หลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ในสมัยหริภุญไชย พร้อมๆ กับการกำเนิด ของพระนางจามเทวี ตามตำนานโยนก กล่าวถึงการกำเนิดของพระนางจามเทวี ดังนี้
พระนางจามเทวี ทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ. ๑๑๗๖ โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นชาวเมงคบุตร (มอญ)คัดจากหนังสือ พระนางจามเทวี: กำเนิดพระนางจามเทวี, หน้า ๑๕)

 
หลักศิลาจารึกที่เป็นภาษามอญ
 
สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อาณาจักรหริภุญไชย และพระนางจามเทวีเป็นมอญหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งคงดูได้จาก ศิลาจารึกที่ขุดค้นได้ในอาณาจักรแห่งนี้กว่า ๓๐ หลัก (ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาวัน จ.ลำพูน) ซึ่งจารึกด้วยภาษามอญทั้งสิ้น ส่วนหลักฐานทางประวัติศาตร์ที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า ชาวหนองดู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ในยุคพระนางจามเทวีก็คือ พระเจดีย์โบราณวัดเกาะกลาง ตำบลบ้านเรือน ที่ตำนานระบุว่า พระนางจามเทวีได้สร้างไว้ เมื่อเดินทางมาจากลพบุรี และแวะพักที่วัดเกาะกลางแห่งนี้ ก่อนเสด็จยังเมืองหริภุญไชย เพื่อเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ และภายในวัดเกาะกลาง ยังมีพิพิธภัณฑ์พระนางจามเทวีอีกด้วย
วัดหนองดู่ วัดเกาะกลาง เป็น วัดมอญ ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นมอญไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ชาวบ้านยังใช้ภาษามอญ รวมทั้งพระสงฆ์ก็ยังคงสวดมนต์ด้วยภาษาและสำเนียงมอญ ภายในวัด ก่อสร้างด้วยศิลปกรรมแบบมอญผสมผสานล้านนาไทย มีเสาหงส์ และจารึกอักษรมอญไว้ที่ฐานเสาด้วยสวยงาม
--------------

(เขียนโดย:                                njoy เมื่อ อังคาร, 02/17/2009 - 21:18. | in มอญ (Mon) ภาคเหนือ ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชุมชน มอญ

วันที่เอกสารถูกสร้าง:                  17/02/2009

ที่มา:                                       http://www.monstudies.com)

------------------------

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ
มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง
จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ

มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
อีกทั้งเรื่องราวเรื่อง บางตอน บางบทความ ไม่ได้บอกที่มาของข้อมูลเหล่านั้น

กราบขออภัย และกราบขอบพระคุณ..มา ณ ที่นี้ด้วย

"แว่น มัฆวาน"