วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บันทึกน้ำแม่ปิง : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.๒๔๖๔


บันทึกน้ำแม่ปิง :

การเสด็จกลับจากเชียงใหม่ของ..
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   พ.ศ.๒๔๖๔


แม้ว่าทางรถไฟสายเหนือ ที่เริ่มสร้างหลังจากกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.๒๔๔๕ จะมาถึงลำปางเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ และสร้างต่อจนสามารถเปิดการเดินรถ ถึงปลายทางที่เชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๔ สมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ในเวลานั้น ก็ยังมีบันทึกการเดินทาง ในลำน้ำปิงให้เราได้เห็นอยู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ใน 'หนังสือมัคคุเทศ' ซึ่งอธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ (แม่น้ำปิง) ตั้งแต่เชียงใหม่ ถึงปากน้ำโพธิ์ ซึ่งรวบรวมจากจดหมาย ที่ได้เขียนพรรณนา ระยะทางล่องลำน้ำปิง ของพระองค์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ถวายพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตามที่พระราชชายาฯ ผู้ทรง "มีความรอบรู้โบราณคดีไม่มีใครเสมอ ในมณฑลพายัพ" มีพระประสงค์ต้องการทราบ
บันทึกดังกล่าว ได้ให้ภาพการเดินทาง ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตลอดจนเส้นทาง และจุดแวะพักตลอดจนเกาะแก่งต่างๆ ก่อนหน้านี้ชัดเจนขึ้น มีหลายตำบลตลอดสองฝั่งน้ำแม่ปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเชียงใหม่ และตาก ซึ่งเป็นที่หยุดพัก ทั้งของพระราชชายาฯ และของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีหลายตำบล ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลุ่มน้ำแม่ปิง อย่างน่าสนใจยิ่ง
อาจกล่าวได้ว่าบันทึกทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนเท่านั้น แต่แท้จริง คือเรื่องราวของสายน้ำมากกว่า เราอาจแบ่งระยะทางล่องน้ำแม่ปิง ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในครั้งนั้นได้เป็นสองช่วงด้วยกัน คือช่วงแรก ระหว่างเชียงใหม่ถึงเมืองตากใหม่ และช่วงที่สอง ระหว่างเมืองตากใหม่ถึงปากน้ำโพ
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเส้นทางในช่วงแรก ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนภูมิพล
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔
เช้าออกจากเชียงใหม่มาพักแรมที่ตำบลท้ายเหมือง ซึ่งสมเด็จฯ ทรงกล่าวว่าเป็นบริเวณที่หม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพขณะนั้น กำลังสร้างทำนบในลำน้ำปิง เพื่อไขน้ำเข้ามาทางฝั่งตะวันออก
จากการเปรียบเทียบกับแผนที่ เราไม่พบบ้านท้ายเหมืองดังกล่าว แต่ในแผนที่ปรากฏบ้านปากเหมือง ที่พระราชชายาฯ เสด็จประทับเป็นแห่งสุดท้าย ก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในแผนที่ยังปรากฏร่องลำเหมือง ที่เป็นระบบทดน้ำ เพื่อการเกษตรกรรมของล้านนาโบราณ จำนวนมากกระจายอยู่ระหว่างดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกกับน้ำแม่ปิง และทางฝั่งตะวันออก
ลักษณะเช่นนี้สัมพันธ์กับการเรียกชื่อสถานที่ "บ้านท้ายเหมือง" และ "บ้านปากเหมือง" นั่นแสดงถึงความสำคัญ ของระบบการทดน้ำเข้าเหมือง และฝายเพื่อการเกษตรกรรม ด้วยเหตุนั้น อุปราชมณฑลพายัพ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง จึงต้องทำหน้าที่จัดสรรน้ำด้วย ดังในกรณีของหม่อมเจ้าบวรเดช
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔
พักแรมตำบลปากบ่อง ไปดูเวียงป่าซาง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ เกี่ยวพันกับการตั้งทัพ รวบรวมกำลังคนในสมัยพระยากาวิละ และไปดูวัดเก่าสองวัดคือวัดอินทขีล กับวัดป่าซางงาม
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ออกจะโปรดทำเลที่ตั้งเวียงป่าซางมาก เพราะชัยภูมิดี อุดมด้วยไร่นา ขนาดก็พอเหมาะกับการรักษาต่อสู้ข้าศึก ด้วยมีลำน้ำแม่ทาอยู่ด้านเหนือ และลำน้ำปิงอยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งยังเป็นบริเวณศูนย์กลาง การเดินทางติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่- ลำพูน- ลำปาง- ตาก
อย่างไรก็ตาม ตำบลปากบ่อง ซึ่งเป็นจุดแวะพักทั้งของพระราชชายาและของกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ไม่ปรากฏในแผนที่ แต่จากการสำรวจของผู้เขียนเอง พบว่ามีหมู่บ้านชื่อ "ปากบ่อง" อยู่ริมฝั่งตะวันออก บริเวณใต้สบแม่ทา (บริเวณที่น้ำแม่ทาไหลมาบรรจบน้ำแม่ปิง) ลงมาไม่ไกลนัก คืออยู่ระหว่างบ้านก้องกับบ้านหนองผำ เขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔
แวะบ้านหนองดู่ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายว่า เป็นบ้านคนมอญ และยังเสด็จไปดูวัดเดิม วัดใหม่ จึงพักแรมบ้านหนองดู่
บ้านหนองดู่ ในที่นี้ปรากฏในแผนที่ทางฝั่งตะวันออกของน้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง และจากการสำรวจพบว่า อยู่ห่างจากบ้านปากบ่อง เลียบริมน้ำแม่ปิง ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ซึ่งหากไปต่ออีกไม่กี่กิโลเมตร ก็จะถึงวัดเกาะกลาง ซึ่งมีเจดีย์ที่มีลวดลายปูนปั้น แบบราชวงศ์มังราย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีการเดินเรือ มาขึ้นที่ท่าหน้าวัด
เรื่องที่น่าแปลกใจเรื่องหนึ่ง คือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลับมิได้ทรงกล่าวถึงบ้านสันมหาพน ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านปากเหมือง กับ บ้านหนองดู่ ทางฝั่งตะวันออกห่างจากแม่น้ำปิงประมาณ ๔ กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของซากเจดีย์ ทรงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้น และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมอยู่คู่กัน ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกัน ในชื่อของเจดีย์จามเทวี และนับเป็นตัวแบบศิลปสถาปัตยกรรม แบบทวารวดี ในภาคเหนือที่สำคัญ หรือว่าการศึกษาค้นคว้า ของชาวตะวันตก ที่เข้ามาสู่ล้านนาขณะนั้น ยังมาไม่ถึงลำพูน? แต่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเลอ เมย์ ก็ได้ขึ้นมาถึงเชียงใหม่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๖

***************

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน


หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
ขอกราบขอบพระคุณ..

"แว่น มัฆวาน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น