วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

มอญ ชนชาติที่โลกลืม


มอญ... ชนชาติที่โลกลืม


ประวัติความเป็นมาของเม็งในพื้นที่หนองดู่-บ่อคาว และกอโชค-หนองครอบ จากการบอกเล่าของพ่อหนานบุญมี ศรีสถิตย์ธรรม ปราชญ์ชาวบ้านทั้งทางวัฒนธรรมและภาษามอญ ได้อธิบายว่า เม็งที่หนองดู่-บ่อคาว และกอโชค-หนองครอบ เป็นชุมชนมอญที่อาศัยอยู่ที่นี่ (ริมฝั่งน้ำปิง) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังได้มีคนมอญ/เม็งจากที่อื่นๆ เดินทางเข้ามาอาศัยกับคนเม็งที่อยู่เดิม โดยอาจจะเป็นญาติ หรือเป็นคนเม็งเช่นเดียวกัน ต่อมาจึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นชุมชนคนเม็งไปโดยปริยาย

จากการให้ข้อมูลของพ่อหนานบุญมีนั้น ได้สอดคล้องกับการเสด็จล่องลำน้ำปิงของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ที่ได้ทรงแวะบ้านมอญหนองดู่ …“ได้ออกเรือแวะบ้านหนองดู่ เป็นบ้านมอญ ได้ความว่าอพยพขึ้นมาจากทางใต้ได้สัก ๓ ชั่วคน เดี๋ยวนี้มีมอญประมาณ ๑๒๐ คน (พ.ศ. ๒๔๖๔) มีวัดโบราณ ๒ วัด วัดดอนเรียกว่า วัดเดิม มีพระเจดีย์ก่ออิฐฐานสี่มุม พระเจดีย์กลมลายปั้นงาม ทำนองจะเป็นวัดหลวง อีกวัดอยู่ริมแม่น้ำเป็นวัดเก่าปฏิสังขรณ์ใหม่...บ้านหนองดู่มีนิทานเล่ากันว่าเป็นบ้านเศรษฐี ซึ่งเป็นบิดาของนางจามเทวี เดิมจะยกนางจามเทวีให้แก่บุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยงแต่ทีหลังกลับคำ เพราะเห็นบุตรเศรษฐีบ้านหนองเหวี่ยงรูปชั่ว บิดาทั้งสองฝ่ายจึงวิวาทกัน...พระอินทร์จึงให้พระวิสุกรรมมารับนางไปถวายพระฤๅษีวาสุเทพ พระฤๅษีจึงชุบนางให้งามยิ่งขึ้น แล้วส่งไปถวายเป็นธิดาเจ้ากรุงละโว้

ชาวมอญทำพิธีบวงสรวงพระแม่จามเทวี

ได้มีการกล่าวสวดทั้งภาษาไทยและมอญ ในส่วนของชาวบ้านต่างเชื่อว่า ที่ชุมชนบ่อคาวเป็นสถานที่ประสูติของพระนางจามเทวี (ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย หรือลำพูน) และเป็นบ้านเศรษฐีอินตา บิดาของพระนาง ดังจะเห็นได้จากการที่มีโบราณสถานภายในชุมชนหนองดู่-บ่อคาว รวมถึงภายในวัดเกาะกลางด้วย ประกอบกับตำนานจามเทวีวงศ์ที่กล่าวถึงเมืองหริภุญชัย ว่าประมาณสมัยพระยาจุเลระราช (๑๕๙๐-จ.ศ.๓๐๙) ได้เกิดอหิวาตกโรค ชาวเม็งจึงได้ลี้ภัยไปอยู่ที่สะเทิมและหงสาวดี หลังจากโรคร้ายสงบ จึงได้กลับมาหริภุญชัยตามเดิม ซึ่งในเนื้อหาตำนานจามเทวีวงศ์ ก็ยิ่งตอกย้ำทำให้คนเม็งในชุมชนดังกล่าว เชื่อว่าตนเองเป็นเม็งที่มีเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี และอยู่ที่นี่มาช้านาน ด้วยปัจจัยเหล่านี้ชาวเม็งจึงได้นำเอาพระนางจามเทวีมาเป็นบรรพบุรุษของตน

จากความเป็นมาของเม็งหนองดู่-บ่อคาวทั้งที่พ่อหนานบุญมี ชาวบ้านและเอกสารต่างๆ ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่มาที่แน่นอนของคนเม็งในพื้นที่ดังกล่าวได้ หากอาจจะกล่าวในภาพรวมว่าเป็นคนเม็งที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานเป็นสำคัญ

จากการที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ทั้งยังเป็นชุมชนเม็งที่แวดล้อมไปด้วยคนยอง และคนเมือง จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ความเป็นเม็ง ซึ่งแต่เดิมมีให้เห็นกันมากได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าในเรื่องของวัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา อาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ในการเปลี่ยนแปลง ย่อมที่จะต้องมีสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมตกค้างสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันเป็นแน่

ชุมชนเม็งหนองดู่-บ่อคาว ยังคงพยายามที่จะอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของเม็งไว้ให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ในปัจจุบันอาจจะถูกลดความสำคัญลงไปบ้าง ทั้งนี้ก็เนื่องจากพลวัตรการเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นเหตุ

ความเป็นเม็งสิ่งแรกที่เดินทางมาถึงในชุมชน นั่นก็คือ วัด กล่าวคือ วัดในชุมชนเม็งหนองดู่-บ่อคาว มีอยู่ ๒ วัดด้วยกัน คือ วัดหนองดู่ ตั้งใกล้ริมฝั่งน้ำปิง และวัดเกาะกลาง อยู่ในพื้นที่บ้านบ่อคาว โดยวัดหนองดู่เปลี่ยนจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุตในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ส่วนวัดเกาะกลาง เดิมเป็นวัดร้างตั้งแต่สมัยโบราณ ได้มีพระภิกษุเข้าจำพรรษาและพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ พระภิกษุที่จำพรรษาในวัดส่วนใหญ่จะเป็นคนเม็งในพื้นที่ หรือไม่ก็เป็นพระสายธรรมยุตเป็นสำคัญ และสัญลักษณ์ที่สำคัญของวัดมอญ ก็คือ การมีเสาหงส์หน้าวิหาร เพราะชาวเม็งโดยทั่วไปเชื่อกันว่า หงส์ คือสัญลักษณ์ของพวกตน ทั้งวัดหนองดู่ และ วัดเกาะกลาง ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมทั้งจิตใจ และกิจกรรมประเพณีต่างๆ ของเม็งไว้ทั้งสิ้น

นอกจากวัดจะเป็นสัญลักษณ์ภาพรวมที่บ่งบอกถึงความเป็นเม็งได้ในจุดหนึ่งแล้ว วัฒนธรรมประเพณี ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวอธิบายความเป็นมอญได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ประเพณีมอญที่ชาวเม็งหนองดู่-บ่อคาวยังคงพยายามปฏิบัติ เพื่อต้องการอนุรักษ์ไว้ คือ

การบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี

ในพิธีการบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวีนั้น ชาวเม็งในพื้นที่กล่าวว่าจะมีการบวงสรวงภายในเดือน ๔ ของมอญ (ปอน= ๔) เดือน ๕ ของเหนือ/คนเมือง หรือเดือน ๒ (กุมภาพันธ์)ของไทย เป็นประจำทุกปี ในส่วนของวันบวงสรวงจะไม่เจาะจง เพราะแล้วแต่ความสะดวกของคนในชุมชนเป็นที่ตั้ง เหตุที่มีการบวงสรวงก็เนื่องจากเป็นการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษของตน ทั้งนี้เพราะชาวบ้านเชื่อว่าพระนางจามเทวีเป็นบรรพบุรุษของคนเม็งที่หนองดู่-บ่อคาว ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การบวงสรวงจะทำกันที่บริเวณลานเจ้าแม่จามเทวี ในตัวอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นคนเม็งที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะเม็งที่หนองดู่-บ่อคาว แต่ยังหมายรวมถึงชาวเม็งที่อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ลำพูน-เชียงใหม่อีกด้วย ในด้านการอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่และการจัดงานนั้น ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แทบทุกปี เพราะในส่วนของ อบต.บ้านเรือน ก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมของเม็งไว้ให้คงอยู่เช่นเดียวกัน

การฟ้อนผีเม็ง

หนึ่งในพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งแสดงถึงความเคารพต่อผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) ในการฟ้อนผีเม็งจะมีวงปี่พาทย์มอญบรรเลงประกอบอยู่ตลอดเวลา

ขบวนมอญบ้านหนองดู่-บ่อคาว ในงานลอยหะมด (ภาษามอญ คำว่า หะมด แปลว่าไฟ หมายถึงการลอยกระทง) จะมีการสืบสานการแต่งกายแบบมอญในส่วนวัฒนธรรมเรื่องของอาหารนั้น ชาวเม็ง มีอาหารที่ขึ้นชื่อที่สำคัญ คือ ขนมจีน หรือขนมเส้น อาหารดังกล่าวนี้ได้บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของชาวเม็งได้เป็นอย่างดี เพราะชาวเม็งมักจะอาศัยใกล้แหล่งน้ำเนื่องจากส่วนประกอบในการทำขนมจีนจะต้องใช้น้ำ ในอดีตแทบทุกบ้านจะมีการทำขนมเส้น ทั้งรับประทานเอง และไว้ขาย หากแต่ปัจจุบัน การทำขนมจีน เหลืออยู่น้อยรายมาก แต่ผู้ที่ทำนอกจากจะเป็นการประกอบอาชีพหารายได้ถึงแม้ไม่ร่ำรวยให้พวกเขาแล้ว แต่พวกเขาก็ยังภูมิใจที่เป็นผู้มีส่วนแห่งการอนุรักษ์อาหารของคนเม็งให้คนเม็งได้ชื่นชมอีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากอาหารคาว คนเม็งยังนิยมทำขนม ซึ่งขนมของคนเม็งที่เห็นและยังเป็นที่รู้จักของชุมชนในปัจจุบัน คือ ขนมปาด รวมถึงข้าวแช่

การแต่งกาย

คนเม็งจะมีการแต่งกาย คือ ผู้ชายจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า เสื้อคอมน ส่วนผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายโดยเฉพาะของผู้ชายจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง คือ ใส่เสื้ออะไรก็ได้ แต่ที่ขาดไม่ได้เลย คือ โสร่ง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงก็ยังคงเป็นผ้าลูกไม้สีชมพู บ้างก็มีสีส้ม และสีขาว ทั้งนี้ในการแต่งกายแบบมอญนั้น หาได้แต่งเป็นชีวิตประจำวัน พวกเขาจะแต่งเฉพาะวันสำคัญ หรืองานพิเศษ เช่น วันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรา (คำว่า เปิงสังกรา เป็นภาษามอญหมายถึงสงกรานต์) หรือสงกรานต์ วันลอยหะมด หรือลอยกระทง พิธีการฟ้อนผี หรือกิจกรรมพิเศษที่มีในชุมชน

ภาษา

เป็นหนึ่งวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความมีอารยะและความเจริญในกลุ่มชนนั้นๆ เม็งก็เช่นกัน พวกเขามีภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นของตนเอง หากแต่การที่อยู่ใกล้คนยองและคนเมือง ซึ่งมีจำนวนที่มากกว่า ภาษาเม็งที่เคยมีเคยใช้กันมาจึงถูกลดความสำคัญลงและหายไปบ้างสำหรับคนเม็งบางกลุ่มในพื้นที่หนองดู่-บ่อคาว เพราะหากไปถามชาวเม็ง อายุประมาณ ๓๐ ปีขึ้นไป พวกเขาจะพูดเป็นทำนองเดียวกันว่า "ฟังเม็งได้นะ พูดได้บ้าง แต่เขียนไม่ได้" ซึ่งเหตุที่ฟังและพูดได้ เพราะพ่อแม่พูด เมื่อคนอายุ ๓๐ เป็นเช่นนี้กันส่วนใหญ่ แล้วเยาวชนคนเม็งจะพูดกันได้หรือไม่...แทบจะนับคนได้เลยในชุมชนหนองดู่-บ่อคาว ที่เด็กฟังและพูดได้ จากการที่คนเม็งลืมและลดความสำคัญของภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่สำคัญ

พ่อหนานบุญมี ศรีสถิตย์ธรรมจึงต้องการที่จะให้ภาษาเม็งคงอยู่คู่กับชุมชนไปอีกนาน เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว จึงได้ทำการแปลคำสวดจากภาษาไทยเป็นภาษาเม็งถวายพระที่วัด เพื่อใช้ในการสวดมนต์ และจากการที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันพระที่วัด ทำให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเม็งในเรื่องการสวดมนต์ภาษาเม็ง นอกจากนี้พ่อหนานบุญมี ยังได้ทำการสอนภาษาเม็งให้กับเยาวชนเม็งในชุมชนหนองดู่-บ่อคาวอีกด้วย เพื่อที่เยาวชนเหล่านั้นจะได้รู้จักภาษาเม็งของพวกเขาเอง และเป็นการอนุรักษ์ภาษาซึ่งเป็นวัฒนธรรมเม็งให้มีอยู่สืบไป โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากหลวงพ่ออวยชัย รักษาการเจ้าอาวาสวัดเกาะกลาง และพ่อแม่ผู้ปกครองคนเม็งในชุมชน ที่เห็นถึงความสำคัญในวัฒนธรรมและรากเหง้าของตน

การสอนภาษามอญให้กับเยาวชนมอญในพื้นที่ โดยพ่อหนานบุญมี ศรีสถิตย์ธรรม ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากชาวเม็งและหลวงพ่ออวยชัย สิทธิชโย (รักษาการเจ้าอาวาสวัดเกาะกลาง) ซึ่งเป็นชาวมอญในพื้นที่

คนเม็งที่หนองดู่-บ่อคาว และบางส่วนที่กอโชค-หนองครอบ จากการที่พวกเขามีสำนึกในความเป็นเม็ง จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมา และเราคนไทยก็น่าที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของสังคมไทยด้วย

การปล่อยปลา

ชาวมอญส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม การเดินทางสัญจรตามท้องทุ่ง ในบางฤดูกาลพบเห็นปลาตกคลัก เพราะขาดน้ำอยู่เสมอ จึงพากันนำไปปล่อยที่แม่น้ำ ต่อมาจึงได้กลายเป็นประเพณีปล่อยปลาในวันสงกรานต์เพราะ เดือนเมษายนของไทยเป็นเดือนแห่งการขาดฝน พิธีกรรมปล่อยปลาถือเป็นการช่วยต่ออายุสัตว์ ชาวมอญจึงถือ ว่าการปล่อยปลาในวันสงกรานต์ เป็นการสะเดาะเคราะห์ช่วยต่ออายุของผู้กระทำ และเป็นการนำตนไปประสบโชคดี หลังวันที่ ๑๕ เมษายนแล้ว จะมีขบวนแห่ปลาและนก ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ บ้านเกราะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี หนุ่มสาวจะแต่งตัวกันอย่างงามพริ้ง หิ้วถังปลา หรือโถแก้วใส่ปลาและกรงนกที่ตกแต่งสวยงาม เดินเป็นขบวนนำปลาไปปล่อยที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส และปล่อยนกที่บริเวณลานวัดนั่นเอง

ตำนานการปล่อยปลา

ตำนานกล่าวว่า เมื่อโบราณกาลมีพระอาจารย์รูปหนึ่งมีลูกศิษย์หลายคน พระอาจารย์มี ความชำนาญในการทายโชคชะตาราศี วันหนึ่งได้ตรวจดวงชะตาศิษย์รักก็ทราบว่าอยู่ในเกณฑ์อายุ ถึงฆาตจะต้องตายในไม่ช้า ด้วยความสงสารจึงบอกให้เณรน้อยกลับไปเยี่ยมบ้าน เพื่อเยี่ยมโยม บิดามารดาเป็นครั้งสุดท้าย โดยมิได้บอกเรื่องดวงชะตา สามเณรดีใจออกเดินทางเพื่อกลับไปยังบ้านของตน ระหว่างทางได้ผ่านหนองน้ำที่มีน้ำแห้งขอด มีปลาตกคลักเป็นจำนวนมากจึงจับปลาเหล่านั้นไปปล่อยแม่น้ำให้รอดตายทุกตัว จากนั้นจึงเดินทางต่อไปจนถึงบ้าน เยี่ยมโยมบิดามารดาอยู่นานพอสมควรจึงเดินทางกลับมายังสำนักอาจารย์ ฝ่ายอาจารย์เห็นศิษย์กลับมาอย่างปลอดภัย ก็แปลกใจจึงสอบถามเรื่องราวต่างๆ เมื่อทราบว่าลูกศิษย์ได้ประกอบความดีด้วยเมตตาจิต ด้วย การช่วยชีวิตปลาจึงรอดปลอดภัยมาได้

การทำบุญกลางหมู่บ้าน

การทำบุญกลางบ้าน มอญเรียกว่า "ป๊ะย์กาวซา อะโต่ห์กวาน" การทำบุญนี้จะ ทำกันในหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้านและหมู่บ้าน การทำบุญกลางบ้านจะจัดขึ้นหลังวันที่ ๑๕ เมษายน มีการเลี้ยงพระในตอนเช้า ชาวบ้านในหมู่บ้านจะช่วยกันจัดอาหารมาถวายพระ และเลี้ยงกันในหมู่ชาวบ้าน ก่อนสงกรานต์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ มีการเตรียม การกวนกาละแม ซึ่งเป็นขนมที่ต้องใช้แรงคนมากในการทำ นอกจากกวนกาละแมแล้ว จะมี การกวนข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว ซึ่งเป็นขนมสำหรับทำบุญในเทศกาลนี้ นอกจากขนมแล้วยังมีการทำขนมจีน หรือ "หะนอมจิน" ซึ่งเป็นอาหารของมอญแต่โบราณกาลมาแล้วเพื่อ เตรียมทำบุญด้วย เมื่อได้ทำบุญกลางบ้านแล้ว การเฉลิมฉลองการขึ้นศักราชใหม่ยังคงมีต่อ เนื่องไปอีกด้วยการจัดทำพิธีทำบุญสรงน้ำพระ

ทะแยมอญ

ทะแยมอญ เป็นเพลงพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื้อร้อง และท่วงทำนองเป็นภาษามอญ แต่อาจมีภาษาไทยปนบ้างใน บางตอน เนื้อร้องจะเป็นการเกี้ยวพาราสี ต่อปากต่อคำ ระหว่างชายหญิงก็ได้ หรือข้อธรรมะโต้ตอบกัน ชมนกชมไม้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าผู้ร้อง จะดำเนินเรื่องไปอย่างไร มีการรำประกอบด้วยแต่ไม่เป็นแบบแผนตายตัว ทะแยมอญเล่นได้ทั่วไป ทั้งในโอกาสที่เป็นงานมงคล และงานอวมงคลหรือในวาระที่ต้องการความสนุกสนานครึกครื้น เช่นในเทศกาลสงกรานต์ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิธี


ที่มาของพระราชประวัตินี้
. ชินกาลมาลีปกรณ์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
. สังคีติยวงศ์
. จามเทวีวงศ์
(คัดลอกจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำพูน-บ้านมอญหนองดู่ /monstudied)

 ***************

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน


หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
ขอกราบขอบพระคุณ..

"แว่น มัฆวาน"

1 ความคิดเห็น: