วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เวียงเกาะกลาง แหล่งประติมากรรมโบราณ


เวียงเกาะกลาง แหล่งประติมากรรมโบราณ


ต้องยอมรับว่า เส้นทางสู่มรดกโลก ด้านวัฒนธรรม ที่คณะทำงานเมืองมรดกโลกจังหวัดลำพูนได้เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาถึงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของนครหริภุญไชย เมืองเก่าแก่ 1,300 ปี มีสิ่งที่น่าสนใจจำนวนมาก


นอกจากจุดเด่นที่บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร และ ชุมชนโดยรอบแล้ว กลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง และชุมชนบริวารก็เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าพิเศษ มีเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่นในยุคโบราณที่ปรากฏให้เห็นร่องรอยอารยธรรมเดิมที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนหน้านี้ "วัดเกาะกลาง" ถูกทิ้งให้เป็นวัดร้างจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2517 "พระมหาสงวนปัญญา" จากวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ "พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์" วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับ "พระอุดม บุญช่วย" วัดหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ร่วมกันพัฒนาปฏิสังขรณ์เป็นสถานที่บำเพ็ญธรรม ในปี พ.ศ. 2522 กรมการศาสนาได้ประกาศให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา

เจดีย์หมายท่า
 
สำหรับชุมชนโดยรอบมีชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัย ส่วนบริเวณด้านหน้าพระวิหารจะมีเสาหงส์ตั้งอยู่ เพื่อแสดงสัญลักษณ์และเครื่องรำลึกว่า "หงส์" คือเมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญในพม่า
 
 
ความโดดเด่นและคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง เป็นสถานที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับกำเนิดของ "พระนางจามเทวี" มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมของโบราณสถานรุ่นแรกๆ ของล้านนา และสถาปัตยกรรมของโบราณสถานที่ปรากฏ มีรูปแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 


ต่อมา กรมศิลปากรได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ทำการขุดแต่งโบราณสถานกลุ่มนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2548 พบว่ามีโบราณสถาน 4 กลุ่ม ได้แก่ เจดีย์หมายท่า ก่อนนั้น ปรากฏหลักฐานเพียงเจดีย์ทรงกระบอกกลม หลังจากการขุดแต่งพบว่ามีองค์ประกอบตามแบบแผนของวัดอย่างชัดเจน ประกอบด้วยองค์เจดีย์ประธาน แท่นบูชา วิหาร กำแพงแก้ว และซุ้มประตูโขง 


"นางเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์" หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และสถาปัตยกรรมศิลป์ กล่าวว่า ภายในวัดเกาะกลางพบโบราณสถานที่ประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงปราสาท วิหาร อุโบสถ บ่อน้ำ แนวกำแพง ซุ้มประตูโขง และเจดีย์ทรงปราสาท ด้านทิศตะวันออกของวัดที่สำคัญคือ เจดีย์ประธาน รวมทั้งเจดีย์ทรงปราสาทอีก 2 หลัง ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคต้นของอาณาจักรล้านนา


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงปราสาท ยอดระฆัง คาดว่าจะมีอายุประมาณช่วงต้นอาณาจักรล้านนา องค์เจดีย์มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น มังกร กิเลน และนาค ผสมผสานกับลายบัวเชิง ลายบัวคอเสื้อ และลายพรรณพฤกษา ประเภทลายเครือเถา ที่เรียกกันว่า ลายเครือล้านนา อีกทั้งยังพบร่องรอยของการซ่อมแซมปูนปั้น วงโค้งของซุ้มจระนำ ส่วนพื้นที่รอบฐานเจดีย์ พบว่ามีร่องรอยของการปรับหน้าที่การใช้งานของทางเดิน แท่นบูชา และมีการบูรณปฏิสังขรณ์วิหาร ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกประมาณ 4 ครั้ง ในการซ่อมแซมครั้งที่ 3 คาดว่า น่าจะเกิดจากพื้นที่นั้นถูกน้ำท่วม


นอกจากนี้เจดีย์ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน บริเวณกรอบซุ้มจระนำ มีการนำอิฐหน้าวัว ก่อเป็นกรอบวงโค้ง ซึ่งเป็นศิลปะเด่นแบบพุกาม มีลักษณะคล้ายกับมณฑปประดิษฐาน พระแก่นจันทร์แดง ที่วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2062


สำหรับเจดีย์ด้านทิศเหนือ มีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น เป็นอย่างมากคือ ลักษณะของเรือนธาตุ มีเสากลางรองรับโครงสร้างส่วนบน เป็นรูปแบบที่ไม่เคยพบในแหล่งโบราณสถานใดในประเทศไทย


ลักษณะของเจดีย์ตั้งอยู่กลางน้ำ และมีฐานลานประทักษิณกลม เป็นรูปแบบพิเศษ พบเป็นครั้งแรกของศิลปะสถาปัตยกรรมในอาณาจักรล้านนา แต่มีลักษณะคล้ายกับโบราณสถานสระมรกตจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 10-14 ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อีกทั้งลวดลายปูนปั้น มีความงดงาม

จัดว่าเป็นกลุ่มฝีมือช่างหลวง ในยุคทองของอาณาจักรล้านนา และยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ศิลปะพุกาม สุโขทัย และล้านนา คาดว่าวัดเกาะกลางแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญ และน่าจะได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่




ในส่วนของบริเวณเนินแม่ม่ายหรือเนินเศรษฐีอินตา มีกลุ่มโบราณสถาน 2 แห่ง กลุ่มแรก พบอาคารจำนวน 7 หลัง บ่อน้ำจำนวน 2 บ่อ มีแนวกำแพงล้อมรอบ มีประตูทางเข้า อีกกลุ่มหนึ่งพบแท่นก่ออิฐในผังแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ 1 หลัง และแท่นบูชา มีแนวกำแพงล้อมรอบ โดยมีทางเดินขนาดเล็ก เชื่อมต่อกับกลุ่มโบราณสถานแรกที่พบ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมขนาดใหญ่มากมาย เป็นลวดลายจีนยุคราชวงศ์ถัง ร่วมสมัยกับทวาราวดี


ประติมากรรมและแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่พบในวัดเกาะกลางนี้ล่าสุดคณะทำงานด้านมรดกโลกของจังหวัดลำพูน เชื่อมั่นว่าหลังจากมีการเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามหลักวิชาการแล้ว จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ ในการผลักดันและยกระดับให้ "จังหวัดลำพูน เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคต"







-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หน้าบ้านโบราณคดีสำรวจเวียงเกาะกลาง
แหล่งประติมากรรมโบราณ ลำพูน
 
เขียนโดย
พิมผกา ต้นแก้ว  
พุธ, 16 สิงหาคม 2549

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 16/08/2549

----------------------

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
อีกทั้งเรื่องราวเรื่อง บางตอน บางบทความ ไม่ได้บอกที่มาของข้อมูลเหล่านั้น

กราบขออภัย และขอกราบขอบพระคุณ..มา ณ ที่นี้ด้วย

"แว่น มัฆวาน"

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น