วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ประวัติหมู่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว





ความเป็นมา


ชุมชนชาวมอญแห่งเดียวในภาคเหนือตอนบนที่อยู่ในเขตจังหวัดลำพูน คือบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ความจริงแล้ว มอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ณ เวลานี้มีอยู่หลายแห่งหลายที่ ถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์แล้ว ชาติภูมิของชนชาวมอญนั้นอยู่ที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ชนชาติมอญนั้นเป็นชนชาติที่รักความสงบและสร้างสมอารยธรรมความเจริญต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งด้านวัฒนธรรม ศาสนา และการค้า ชนชาติมอญมิได้เตรียมตัวเพื่อการสงครามเลย อาณาจักรมอญจึงพ่ายแพ้และตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในปี พ.ศ.๑๖๐๐ จะเห็นได้ว่าอาณาจักรมอญในพม่ามีอายุยืนยาวมากกว่าในประเทศไทย เมื่อพม่ามีชัยชนะเหนือมอญ

การอพยพของขาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งได้มีบันทึกไว้เป็นทางการอย่างแน่นอนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๑๒๗ คือหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง และการอพยพยังคงมีติดต่อกันมาเรื่อยๆ  อีกหลายครั้ง

และบางตำราปรากฏว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่นั้นติดสอยห้อยตาม “องค์เจ้าแม่จามเทวี” เพราะตามประวัติ (บางฉบับ) นั้น องค์เจ้าแม่จามเทวี ประสูติที่บ้านหนองดู่ และไปเติบโตที่เมืองละโว้ ลพบุรี

 

 ประวัติหมู่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว

หมู่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว เป็นหมู่บ้านชาวมอญที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๖ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๕ กิโลเมตร สาเหตุที่ได้ชื่อว่าหมู่บ้านหนองดู่ ก็เนื่องมาจากในอดีตกาลที่ผ่านมา ภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำกว้างใหญ่และลึก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน และมีต้นประดู่ใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกว่าหมู่บ้านหนองดู่ซึ่งในภาษามอญที่ใช้พูดกันในหมู่บ้านนั้นจะเรียกว่า กวานหนองดู่

แรกเริ่มเดิมทีเป็นหมู่บ้านร้างและภายในหมู่บ้านแห่งนี้มีวัดร้างวัดหนึ่งคือวัดเกาะกลาง เป็นวัดเก่าแก่มากมีหนองน้ำล้อมรอบบริเวณวัด สังเกตจากสิ่งปลูกสร้างและสภาพวัดสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหมู่บ้านและวัดที่เจริญมาก่อน เพราะมีลักษณะการปลูกสร้างอย่างวิจิตรพิสดาร  จากตำนานการสร้างวัดเกาะกลาง ซึ่งก็คือหมู่บ้านหนองดู่ในสมัยนั้นได้กล่าวไว้ว่า วัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๑๗๖ โดยตระกูลของท่านเศรษฐีอินตา พระบิดาของพระนางจามเทวีซึ่งตามประวัติองค์เจ้าแม่จามเทวี มีเชื้อชาติมอญบ้านหนองดู่โดยกำเนิด จึงสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยก่อนคงจะมีชาวบ้านมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาวแห่งนี้ และกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร จึงได้รกร้างไประยะหนึ่ง

ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๒๕๖ ได้มีชาวมอญอพยพมาจากกรุงเมาะตะมะและหงสาวดี (ประเทศพม่าในปัจจุบัน) ประมาณ ๖-๗ ครอบครัว ได้มาทำไร่ทำสวนและทำขนมจีนขายเป็นอาชีพ นอกจากนี้ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายและเป็นหัวหน้าครอบครัว ยังมีอาชีพเสริมคือรับจ้างทำแพและล่องแพ ขนส่งสินค้าตามลำน้ำปิงไปยังจังหวัดตาก-นครสวรรค์ จนเป็นที่เลื่องลือกันว่า ชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ชำนาญในการล่องแพ ถ้าพ่อค้าคนใดจะขนสินค้าไปทางน้ำก็มักจะว่าจ้างชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ล่องแพเพื่อนำสินค้าไปส่งให้ (ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าจากจังหวัดเชียงใหม่)

จากตำนานและคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านสืบๆ ต่อกันมาพอประมาณและพอได้เค้าว่า ราวปี พ.ศ. ๒๓๒๑ มีพระเดินธุดงค์มาจากเมืองเมาะตะมะรูปหนึ่งชื่อ พระรั่ว มาครองวัดในหมู่บ้านหนองดู่ ตามหลักฐานที่ปรากฏ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงบ้านหนองดู่ ไว้ในหนังสือล่องน้ำปิงว่า บ้านหนองดู่เป็นหมู่บ้านมอญ มีวัดโบราณ ๒ วัด คือวัดดอน (เกาะกลาง) เรียกชื่อวัดเดิม มีพระเจดีย์ก่ออิฐสี่มุข พระเจดีย์ทรงกลมลายปั้นงานทำนองจะเป็นวัดหลวงมาก่อน และอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เป็นวัดเก่าแก่แต่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ก็คือวัดหนองดู่ขณะนี้ แสดงว่าวัดหนองดู่เป็นวัดเก่าสร้างมานาน การบูรณปฏิสังขรณ์วัดก็เป็นไปตามยุคสมัยของพระปกครองที่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายผู้ใหญ่คือยุคของท่านครูบาญาณกิตติ (กิ) อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ถึง
พ.ศ. ๒๔๘๔

พระภิกษุที่เป็นเจ้าอธิการปกครองและปฏิสังขรณ์วัดแบ่งได้เป็น ๒ ยุค ยุคแรก พระส่วนมากจะมาจากเมืองรามัญ ซึ่งปรากฏมีหลักฐานอยู่ ๔ องค์ คือ  ๑.พระรั่ว  ๒.พระอุตตมะ  ๓.พระครูบาปัญญา  ๔.ท่านครูบาแดง  ท่านองค์หลังนี้ในบั้นปลายชีวิตได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร (แต่ไม่ปรากฏราชทินนาม)

ยุคหลังเริ่มจากท่านครูบาญาณกิตติ เป็นเจ้าอาวาส มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากคณะมหานิกาย เป็นคณะธรรมยุติกนิกาย ดังหลักฐานลงวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๔๘๑

หลังจากชาวบ้านมีที่อยู่ที่ทำกินเป็นหลักแหล่งแล้ว ก็ได้พากันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น ในบริเวณที่เป็นวัดหนองดู่ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าหมู่บ้านหนองดู่มีวัด ๒ แห่ง วัดหนึ่งคือวัดเกาะกลาง ซึ่งชาวบ้านช่วยกันบูรณะเรื่อยมา วัดเกาะกลางแห่งนี้อยู่ติดกับบ้านบ่อคาวในปัจจุบัน ส่วนอีกแห่งคือสำนักสงฆ์วัดหนองดู่ ชาวบ้านก็มีศรัทธาทั้ง ๒ วัด และในปี พ.ศ.๒๕๑๗ คณะศรัทธาชาวบ้านนำโดย พระอุดม  บุญช่วย คุณสงวน  ปัญญา และ คุณดวงจันทร์  เขียวพันธุ์ ได้ร่วมกันบูรณะวัดเกาะกลางขึ้นใหม่ โดยมีพระราชพิศาลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม และพระครูใบฎีกาสมศักดิ์ สุกิตติโก วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นหัวเรี่ยหัวแรงและช่วยกันพัฒนาทางเข้าวัดให้สะดวกขึ้น

หมู่บ้านหนองดู่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มี ๒ วัดมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้มีการแยกเป็น ๒ หมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านมีความคิดเห็นตรงกันว่า เพื่อความสะดวกในด้านการปกครอง และด้านการพัฒนาจึงแบ่งแยกหมู่บ้านหนองดู่ออกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านหนองดู่ หมู่ที่ ๑ ในปัจจุบัน และบ้านบ่อคาว หมู่ ๘ ที่แยกออกไป

ถึงแม้ว่าหมู่บ้านจะถูกแบ่งออกเป็น ๒ หมู่บ้านแล้วก็ตาม ชาวบ้านทั้ง ๒ หมู่บ้านก็มิได้มีการแตกแยกกันแต่อย่างใด เพราะเนื่องจากต่างก็เป็นญาติชาวมอญด้วยกัน และได้ผู้นำชุมชนในสายงานการปกครองที่เข้มแข็ง เป็นผู้คอยประสานให้ชาวมอญในชุมชนทั้ง ๒ หมู่บ้าน มีความรักใคร่ สามัคคี และประสานงานให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันโดยตลอด มีความคิดเห็นตรงกันว่า “เราจะร่วมอนุรักษ์ชุมชนและวัฒนธรรมชาวมอญที่มีมาทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ให้อยู่คู่ลูกหลานตลอดไป” เนื่องจากในจังหวัดลำพูนมีชาวมอญอาศัยอยู่เพียง ๒ แห่งเท่านั้นคือ บ้านหนองดู่ หมู่ที่ ๑ และบ้านบ่อคาว หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ปัจจุบันวัดหนองดู่เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ และเป็นแหล่งเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และเมื่อสมัยเริ่มสร้างวัดบูรณะวัดใหม่ๆ ได้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ช่วยอุปถัมภ์บำเพ็ญกุศลมาแล้วหลายท่าน เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ , สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อสมัยเสด็จล่องน้ำปิง เป็นต้น

วัดหนองดู่เป็นวัดที่พำนักของพระมหาเถระหลายรูปในอดีต อาทิ พระเดชพระคุณพระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พระเดชพระคุณพระธรรมดิลก (ขันติ์ ขนฺติโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ พระเดชพระคุณพระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี พระปลัดทองสุข ธมฺมคุตฺโต ผู้เซ็นรับอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต อันดับ ๘ ในนามวัดหนองดู่ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

จากการที่มีพระมหาเถระหลายรูปได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองดู่แห่งนี้มาก่อน บางรูปก็มรณภาพ บางรูปก็ไปเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จังหวัดอื่น จากนั้นก็มีพระที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวมอญบ้านหนองดู่ เป็นพระนักเผยแผ่ พระนักพัฒนา พระผู้เคร่งครัดในธรรมวินัย ที่ประชาชนทั้งภายในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก พระเถระรูปนั้นก็คือ ท่านพระครูพิมลวินัยกิจ (ชำนาญ  ฐิตธมฺโม) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านด่วนมรณภาพไป วัดหนองดู่ก็ไม่มีเจ้าอาวาส มีแต่พระที่รักษาการแทน คือ พระอภัย อาจาโร และต่อมาก็ได้ลาสิกขาไป เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงพ่ออ้วน มหาปุญฺโญ รักษาการต่อมาจนกระทั่งมีท่านพระครูวิชาญศาสนคุณ (วิชาญ  ญาณยุตฺโต-จันทรา) หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้วออกธุดงค์เดินทางขึ้นมาภาคเหนือ และได้ไปพำนักที่วัดหนองดู่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา

ท่านพระครูวิชาญศาสนคุณ ยังมีโครงการที่จะพัฒนาอีกหลายด้านและหลายโครงการ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารมาบั่นทอนโครงการเหล่านั้น ท่านพระครูวิชาญศาสนคุณ ได้มรณภาพเมื่อช่วงบ่ายสามโมงเย็นของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ภายในกุฏิเจ้าอาวาส ด้วยอาการเส้นเลือดในหัวใจและสมองแตก ได้ทำพิธีพระราชเพลิงศพของท่านเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๑

จากนั้นคณะศรัทธาประชาชน ได้อาราธนาท่านพระครูโสภณเจติยาภิบาล จากวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ มาดำรงตำแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองดู่ เจ้าคณะตำบลบ้านเรือน (ธ) เป็นผู้สืบสานสร้างงานต่อและก่องานใหม่จากพระครูวิชาญศาสนคุณ เพื่อให้วัดหนองดู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคณะศรัทธาประชาชนชาวบ้านหนองดู่ ดังเช่นพระเถรานุเถระในอดีตได้กระทำมาแล้ว

สุจิต  ญาณะเผือก

 

***************

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ
มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...
หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน


หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย ได้กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
ขอกราบขอบพระคุณ..

                                                          
"แว่น มัฆวาน"
 

1 ความคิดเห็น:

  1. จะสามารถติดต่อหัวหน้าชุมชนได้อย่างไรคะ หากจะขอเข้าไปศึกษาดูงาน เข้าไปสัมผัสชาวมอญลำพูนค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ