วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายในลำพูน บ้านหนองดู่ – บ้านบ่อคาว


บ้านหนองดู่ – บ้านบ่อคาว

ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายในลำพูน
----------------- 

อาทิตย์นี้ตาม “พันแสงรุ้ง” ขึ้นเหนือ ไปกันที่ดินแดนหริภุญชัย จ.ลำพูน ตามร่องรอยอารยธรรมมอญที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในแถบนี้

ทุกวันนี้คนมอญที่ลำพูนมีอยู่ไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน นับวันก็ยิ่งจะถูกกลืนไปกับคนพื้นเมืองกลุ่มอื่นๆ แต่นับว่าโชคดีที่มีลูกหลานมอญกลุ่มหนึ่งพยายามรักษาและช่วยกันฟื้นฟูกอบกู้จิตวิญญาณมอญให้กลับคืนมา

ทำไม? คนมอญที่ลำพูนถึงลุกขึ้นมาต่อลมหายใจความเป็นมอญของตัวเอง

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเค้าจะทำอย่างไร?

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญชัยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้วทุกๆ ปีชาวบ้านเกาะกลางจะจัดงานเทศกาล “ฟ้อนผีเม็ง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลานเป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ไม่ให้สูญสลาย

มีหลักฐานเอกสารยืนยันว่า คนมอญมาจากเมืองตะแลงคนาซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี เมืองหงสาวดี แล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า อาณาจักรพยู ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่นครปฐมเป็นเหรียญเงินซึ่งปรากฏอักษรมอญไว้ว่า เย ธมฺมา ศรีทวารวติ ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ ๑๕

สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๖ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ชุมชนมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นชุมชนมอญอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงสำเนียงเสียงภาษามอญ แม้ว่าชุมชนบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว จะเป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก แต่ก็รักษาขนบประเพณีมอญเอาไว้เป็นอย่างดี

ความเชื่อของชาวมอญที่นี่ พวกเขาเชื่อว่าอพยพมาจากเมืองมอญ ในประเทศพม่าโดยตรง

อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย พร้อมๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวี

ตามตำนานโยนกนคร กล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ.๑๑๗๖ โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) เป็นชาวเมงคบุตร ดังนั้นชาวมอญที่นี่จึงนับถือพระนางจามเทวีเป็นเสมือนบรรพบุรุษ และทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณเจ้าแม่จามเทวี อันเป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะทำพิธีภายในเดือน ๔ ของมอญ (ปอน=๔) เดือน ๕ ของล้านนา หรือราวเดือนกุมภาพันธ์

เอกลักษณ์ของชาวมอญบ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาวที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การแต่งกายและภาษา คนมอญนิยมเรียกตนเองว่า เมง การแต่งกายของคนเมงคือ ผู้ชายจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานวันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรา (วันสงกรานต์) วันลอยหะมด (วันลอยกระทง) และวันฟ้อนผีเท่านั้น

ส่วนภาษาของชาวมอญก็ยังคงมีการสื่อสารกันอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจในการพูด เขียนภาษามอญมากยิ่งขึ้น

ในรายงานวิชาการเรื่องการขุดแต่งเจดีย์ประธานวัดเกาะกลาง โดยวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีอิสระ กล่าวถึงวัดเกาะกลางว่า

“เดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางทุ่งนาในเขตบ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน วัดนี้มีเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะสืบต่อมาว่า เป็นวัดที่สร้างโดยเศรษฐีอินตา เชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาถูกทิ้งร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ”

วัดเกาะกลางในอดีตเคยเป็นวัดของคนมอญสร้างขึ้นอยู่กลางน้ำ รอบๆ วัดเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๑๗ พระมหาสงวน ปัญญา วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ และพระอุดม บุญช่วย จากวัดหนองดู่ ลำพูน ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดเกาะกลางซึ่งเป็นวัดร้างและมีโบราณสถานอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันวัดเกาะกลางเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่


เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดจะพบกับโบราณสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเจดีย์ประธานทรงล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นค่อนข้างชัดเจนมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างขึ้นบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม องค์เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจรนำยื่นออกมาจนมีลักษณะเป็นมุข ที่เสากรอบมุขและหลังคาประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา

จากลวดลายปูนปั้นของเจดีย์องค์นี้เรียกได้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะสามารถสืบค้นอายุของเจดีย์ได้ ลวดลายพรรณพฤกษาและลายเมฆไหลที่พบประดับกรอบซุ้มจรนำด้านเหนือของเจดีย์ประธานวัดเกาะกลางนั้น เป็นงานประติมากรรมฝีมือช่างสกุลล้านนาที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย ดังนั้นนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า ประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับองค์เจดีย์ประธาน เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือหลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช

นอกจากนี้รอบๆ วัดเกาะกลางยังปรากฏเจดีย์ต่างๆ และโบราณสถานอีกกว่า ๗ แห่ง โดยเฉพาะเจดีย์หมายท่าที่อยู่ปากทางเข้าวัด เจดีย์หมายท่านี้น่าจะหมายถึงท่าน้ำบ้านหนองดู่ ที่ด้านหน้าวัดยังมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมมีเสาแกนกลางเพื่อรับน้ำหนักซึ่งไม่เคยปรากฏรูปแบบที่ใดมาก่อนตั้งอยู่บนเนินดิน ในวัดยังมีซุ้มประตู ฐานอุโบสถและรากหรือฐานกำแพงวัดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เป็นเศษอิฐจมอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก

กลุ่มโบราณสถานภายในวัดเกาะกลางที่พบ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ

กลุ่มโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณวัด

กลุ่มโบราณสถานที่อยู่รอบๆ วัด

รูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดเกาะกลาง เป็นศิลปกรรมล้านนาคือตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปแบบล้านนา ข้างล่างเป็นฐานจัตุรมุข ข้างบนเป็นทรงระฆังคว่ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ยังไม่ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญไชยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้ น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้ว ทุกๆ ปีชาวบ้านบ่อคาว วัดเกาะกลาง จะจัดงานเทศกาลฟ้อนผีเม็งซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลาน เป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาชาวมอญ “หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน” ไว้ไม่ให้สูญสลาย

 ***********
จักรพงษ์  คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews.co.th.
ที่มา http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=๔๒๔๘๘
ภาพจาก http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=๖๒๙&Itemid=๑๗๒

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น