วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คนมอญลำพูน



คนมอญลำพูน


คนมอญเป็นกลุ่มคนที่เรียบง่าย ไม่ปรารถนาที่จะต่อล้อต่อเถียงกับใคร ตลอดทั้งชีวิตของพวกเขา มุ่งแสวงหาความสงบและการแสดงออกถึงศรัทธา ต่อศาสนาอย่างแรงกล้า นี่อาจเป็นคำกล่าวหนึ่งที่เหมือนจะตอกย้ำลงไปว่า แท้จริงแล้วคนมอญไม่ได้เป็นชนชาตินักรบ หากแต่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่รักความสงบ ดำรงตนอยู่ภายใต้หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนามากกว่า
 
 
ในอดีตที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่า ตั้งแต่พื้นที่ขวานทองของไทยเรื่อยไปจนกระทั่งถึงพม่า และอินเดียบางส่วน เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนมอญ กระทั่งพวกเขาถูกรุกราน และได้อพยพเร่ร่อนไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พวกเขาถูกมองว่า เป็นกลุ่มชนที่ไม่มีหลักแหล่งแน่นอน
 
และนี่คืออนุสติสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อฉากสุดท้ายของมหาอาณาจักรที่สำคัญที่สุด ในดินแดนสุวรรณภูมิเคยเป็นถึง แอ่งอารยธรรมแม่ ของอารยธรรมทั้งปวงในแถบอุษาคเนย์ จักต้องมาจบลงด้วยการไร้ชาติสิ้นแผ่นดิน ทว่าหากย้อนเข้าไปในยุคสมัยประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่า มอญ คือบรรพบุรุษกลุ่มแรก ที่เคยครอบครองผืนแผ่นดินไทยมาก่อน เช่นในพุทธศตวรรษที่ ๘ หรือราว ๑,๘๐๐ ปีมาแล้วมีหลักฐานยืนยันว่า อาณาจักรมอญแห่งแรกสุดมีศูนย์กลางอยู่แถบนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งเรียกรวมกันว่า อาณาจักรทวารวดี (Dvaravati)
 
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเอกสารยืนยันอีกว่า บรรพชนของคนมอญน่าจะมาจากเมืองตะเลงคนา (Telinggana) ซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี ที่เมืองหงสาวดี แล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า อาณาจักรพยู ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกราน และได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่างๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่ จังหวัดนครปฐม พบเหรียญเงินปรากฏอักษรมอญไว้ว่า เย ธฺมมา ศรีทวารวติ ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญ เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ ๑๕
 
สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ ๑๖ ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ มอญกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า พวกเม็งบ้านหนองดู่-บ่อคาว ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออกเป็นมอญบ้านหนองดู่และบ่อคาว ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นมอญบ้านต้นโชค และบ้านหนองครอบ อ.สันป่าตอง มีแม่น้ำปิงเป็นสายใยยึดโยงความสัมพันธ์ รวมคนมอญทั้งสองฝั่งได้ราว ๓,๐๐๐ กว่าชีวิต ๕๐๐ กว่าครัวเรือน
 
หากย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการอพยพคนมอญขึ้นมาอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และแม่น้ำวังกลุ่มใหญ่ ๑ - ๒ ระลอก ซึ่งปัจจุบันปรากฏชุมชนคนมอญ ทั้งในจังหวัดลำพูนและลำปาง ขณะเดียวกันประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือ ประเด็นเรื่อง พระนางจามเทวีเป็นมอญที่มาจากละโว้ หรือ เป็นมอญบ้านหนองดู่
 
ปริศนาเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของพระนางจามเทวีนั้น เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่จบ เนื่องจากตำนานที่เขียนขึ้น ล้วนแต่งในสมัยหลังทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในเอกสารประกอบการเสวนา จัดทำโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย เรื่องปฐมเหตุแห่งมอญหริภุญชัย กล่าวถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยสมัยนั้น ประกอบด้วยคน ๓ กลุ่มหลัก คือ
 
มอญจากละโว้หรือมอญทวารวดี ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงพวกนักปราชญ์ นักบวช ขุนนาง ศิลปิน นายช่างที่เดินทางมาพร้อมกับพระนางจามเทวีกว่าเจ็ดพันชีวิต
 
กลุ่มที่ ๒ คือชาวเม็งพื้นเมือง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน พูดภาษาคล้ายคลึงกับมอญราชสำนัก ซึ่งกลุ่มนี้พระนางจามเทวีทรงโปรดให้เข้ามาอาศัยอยู่ภายในเวียง ปะปนกับชาวมอญจากภาคกลางอย่างกลมกลืน
 
กลุ่มสุดท้ายเป็นพวกลัวะหรือละว้า ชนพื้นเมืองดั้งเดิมมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง โดยให้อาศัยอยู่บริเวณนอกเมือง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี ที่เก่าแก่ย้อนไปถึงยุคของพระนางจามเทวีในรูปของจารึกหรือศิลปกรรม
 
ร่องรอยอารยธรรมมอญที่เหลือให้เห็นในลำพูน ก็พบในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๕) เป็นอักขระมอญโบราณ จารึกลงบนแท่งหินขนาดใหญ่จำนวน ๘ หลัก (ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจารึกมอญมากที่สุดในประเทศไทย) ทำให้ทราบว่า มีกลุ่มชนชาวมอญเคยอาศัยอยู่ในอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนที่จะถูกกลืนหายไป พร้อมกับการเดินทางมาถึงของกลุ่มชนชาวไทจากลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขง ภายใต้ชื่ออาณาจักรล้านนา
 
อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวมอญแม่ระมิงค์หลายคน จักพยายามยืนยันต้นตระกูลของพวกเขาคือมอญหริภุญชัย มิใช่มอญใหม่จากที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังกลับเชื่อว่าน่าจะเป็นมอญใหม่มากกว่า เพราะจากประวัติศาสตร์ล้านนายุคหลังหริภุญไชยเป็นต้นมา แทบไม่มีการกล่าวอ้างถึงชาวมอญอีกเลย เนื่องจากลำพูนได้กลายเป็นแหล่งอาศัยของชาวไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ซึ่งอพยพเข้ามาแทนที่ชาวมอญไปเรียบร้อยแล้ว
 
เพราะถ้าหากมอญใหม่ ก็ชวนให้คิดต่อไปว่าโยกย้ายเข้ามาตั้งแต่เมื่อไรและมาจากไหน จากพม่าหรือจากภาคไหนของประเทศไทย แล้วไยมาเลือกเอาดินแดนแถบป่าซาง - สันป่าตอง ถิ่นเก่าของมอญหริภุญชัยยึดเป็นเรือนตาย...คำถามเหล่านี้ยังเป็นปริศนาที่น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย
 
(จักรพงษ์ คำบุญเรือง jakrapong@chiangmainews.co.th )
 
*************

Monlamphun ขอขอบพระคุณทุกๆ เว็บไซต์ ทุกๆ บทความที่ได้เผยแพร่เกียรติประวัติ เกียรติคุณของ

มอญบ้านหนองดู่-มอญบ้านบ่อคาว ซึ่ง แว่น มัฆวาน ในฐานะที่เป็นลูกหลานเม็งคะบุตร เห็นว่ากระจัดกระจายกันอยู่หลายที่หลายแห่ง จึงได้รวบรวมนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้อนุชนได้ทราบ และเป็นการย้ำเตือนความทรงจำของ
มอญบ้านหนองดู่ - มอญบ้านบ่อคาว
   
ซึ่งเป็น...

หนึ่งเดียวในจังหวัดลำพูน

หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผิดพลาด หรือไม่ถูกต้อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลาย กรุณาแนะนำ ติชม เพื่อที่จะได้แก้ไข
ให้ถูกต้องต่อไป....
ขอกราบขอบพระคุณ..

"แว่น มัฆวาน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น